ธรรมะกับสุขภาพ : “สมาธิ” บำบัดโรค

Friday, August 15, 2014

ธรรมะกับสุขภาพ : “สมาธิ” บำบัดโรค

วันนี้เจอบทความเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือก  ที่ดีสำหรับสุขภาพ เลยขอนำมาแชร์ นะครับ ที่มาตามเครดิตท้ายบทความนะครับ

ท่านผู้อ่านครับ สาเหตุการตายของคนในโลกนี้ร้อยละ 80 มาจากโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว โรคเหล่านี้ต้องรักษากันตลอดชีวิต เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องกินยาตลอด จึงทำให้เสียค่าใช้จ่ายดูแลรักษามาก

โรคเหล่านี้เป็นในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคมะเร็ง โรควิตกกังวลเรื้อรัง โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น โรคเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลง สร้างความทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยอย่างมาก โรคในกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญมากในแง่ของการวางแผนระบบสุขภาพในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากในอนาคตจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแล ถ้าวางระบบไม่ดีก็จะเป็นปัญหาอย่างมาก
นายบัน คีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ในการประชุม World Economic Forum 2011(www. Youtube.com/Davos AnnualMeeting 2011-combating chronic disease) ว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรังปีละ 35ล้านคน และต้องใช้งบประมาณดูแลโรคเหล่านี้อย่างมาก โรคนี้กำลังคุกคามชีวิตของคนในปัจจุบัน ดังนั้น สหประชาชาติจึงถือว่าเป็นปัญญาเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหานี้ให้ได้ (www.youtube.com/2011UN NCDs summit:the uropean story)
ในประเทศไทย ตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2553มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประมาณ 1.7ล้านคน และใช้งบประมาณดูแลมากถึง 52,000ล้านบาท ในสหรัฐอเมริกาก็เหมือนกัน ในปี 2002 คนอเมริกันร้อยละ 44 มีโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค(ประมาณ 157ล้านคน) ร้อยละ 13 มีโรคเรื้อรัง 3 โรคหรือมากกว่า ค่ารักษาพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ รวมแล้วราว 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆจึงพยายามเตรียมรับมือกับปัญหานี้ โดยมีสหประชาชาติเป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายความร่วมมือกัน
manager130103_001b
ผู้ที่ศึกษาในเรื่องนี้มากคือ ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Herbert Benson) ศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้บุกเบิกงานด้านเวชศาสตร์ทางกายและจิต โดยจัดตั้งสถาบันเวชศาสตร์ทางกายและจิต (Mind Body Medical Institute)ในปี 1988 เพื่อศึกษาวิจัยในด้านนี้
ในระยะแรกท่านพบว่า คนไข้ที่มารอตรวจที่โรงพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอก ร้อยละ 60-90 มาจากโรคเรื้อรัง และโรคเหล่านี้เกิดจากความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่ง ท่านเห็นว่าการรักษาโรคเหล่านี้ให้ได้ผล ต้องแก้ไขเรื่องความเครียด ด้วยการสร้างความผ่อนคลาย การใช้ยารักษาอย่างเดียวจะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
ท่านจึงได้นำเอาศาสตร์ตะวันออกหลายประการมาใช้บำบัดรักษา เช่น การฝึกความผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การสวดมนต์ การทำสมาธิ โยคะ ชี่กง ฝึกการเจริญสติในเวลาออกกำลังกาย และอิริยาบถในชีวิตประจำวัน ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความเครียดลงได้
ในระยะแรกท่านทดลองให้พระทิเบตทำสมาธิ เป็นเวลา 1ชั่วโมง แล้ววัดดูการทำงานของร่างกายในขณะเป็นสมาธิ พบว่าสมาธิทำให้ทำให้ความดันลดลง ชีพจรเต้นช้าลง หายใจช้าลง อุณหภูมิกายลดลง การเผาผลาญสารอาหารในร่างกายลดลง คลื่นสมองช้าลงและเป็นระเบียบมากขึ้น ท่านเรียกปรากฏการณ์ นี้ว่า ผลของความผ่อนคลาย (Ralaxation Response) ซึ่งเป็นผลตรงข้ามกับผลของความเครียด
ต่อมาจึงเริ่มรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยการฝึกสมาธิร่วมกับการใช้ยา ก็พบว่าได้ผลดีในโรคต่างๆ คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน ผู้ป่วยมีบุตรยาก อาการปวดเรื้อรังที่เกิดจากโรคต่างๆ เป็นต้น พบว่า ผลของความผ่อนคลายช่วยให้การรักษาโรคได้ผลดีขึ้น ใช้ยาลดลง บางรายเป็นไม่มากก็ไม่ต้องใช้ยา โดยเฉพาะพวกที่นอนไม่หลับ จะช่วยให้นอนหลับดี และฝึกระยะยาวก็ไม่ต้องใช้ยานอนหลับอีกเลย คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน http://www.massgeneral.edu/bhi/clinical_finding
ศ.เบนสันเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับความเครียดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลก เป็นคนแรกที่นำเอาการฝึกสมาธิมาใช้บำบัดโรคซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียด ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครสนใจเรื่องนี้เลย ท่านทำงานทางด้านนี้ไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ 180เรื่อง เขียนหนังสือไว้ 12 เล่ม เช่น Relaxation response, Timeless Healing, The Wellness Book, Relaxation Revolution เป็นต้น ท่านผู้อ่านอาจจะเข้าไปดูได้ในAmazon.com/Herbert Benson และเข้าไปฟังคำบรรยายของท่านที่ Youtube.com/Herbert Benson ก็จะมีให้ฟังมากมาย เรื่องที่น่าสนใจเช่น meditation- universal antidote,Legacy Wisdom-Dr. Herbert Benson ,2011 Mind Body Week keynote Dr Herbert Benson, MD.เป็นต้น ก็จะได้ความรู้มากมาย
เมื่อท่านเกษียณอายุแล้ว ได้มาตั้งสถาบันเวชศาสตร์ด้านกายและจิต ที่โรงพยาบาลทั่วไปแห่งแมสซาชูเซตส์ เมื่อปี 2006 สถาบันแห่งนี้มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจออกมาเป็นจำนวนมาก ท่านผู้อ่านอาจจะเข้าไปดูข้อมูลได้ในwww.massgeneral.org/bhi/research/published
การที่ ศ.เบนสันทำงานด้านเวชศาสตร์ทางกายและจิตเป็นเวลายาวนาน ได้นำเอาศาสตร์ตะวันออกหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องสมาธิ เข้ามาใช้ในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน และได้วางรากฐานวิชาการทางเวชศาสตร์ด้านกายและจิตไว้อย่างมั่นคง กระทั่งปัจจุบันวิชาการด้านนี้ถือเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้รับการยอมรับ และนำมาใช้บำบัดโรคกันมากที่สุดแขนงหนึ่ง ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งเวชศาสตร์ทางกายและจิต
ศ.เบนสันได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โรคเรื้อรังสามารถป้องกันและรักษาให้ได้ผลดีโดยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายเป็นประจำ และโดยการฝึกจิตให้เกิดความผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ เจริญสติ ซึ่งถ้าเราทุกคนตระหนักถึงผลร้ายของโรคเรื้อรังแล้วปฏิบัติตามหลักการดูแล สุขภาพด้วยตนเอง เราก็จะไม่เป็นโรคเหล่านี้ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลตลอดช่วงชีวิตของเรา จะช่วยประหยัดงบประมาณให้รัฐเป็นอย่างมาก
credit : http://ascannotdo.wordpress.com/2013/03/26/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4/
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย น.พ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ที่มา :   ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 มกราคม 2556

0 comments:

Post a Comment